STATISTICS

THESIS

CONTACT US

Articles

Joker ดูหนังผ่านเลนส์

       ก่อนอื่นต้องบอกว่า หนังJokerฉบับ พ.ศ.นี้ เป็นการสร้างที่ผู้สร้างต้องการเสนอมุมมองที่แตกต่างไปจากการสร้างหนังที่ต้องมีJokerเป็นผู้ร้ายและมีBatmanเป็นคนดี ที่พวกเราเคยได้มีประสบการณ์ดูผ่านมาก่อนหน้านี้ ถือเป็นการสร้างหนังแนว Poststructuralism ที่ต้องการเสนอมุมมองหรือความจริงที่ต่างไปที่ในยุคหนึ่งอาจจะถูกปิดกั้นหรือไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ยกตัวอย่าง ถ้าในสังคมไทยยุคหนึ่งอาจจะชอบดูหนังแม่นาคพระโขนงในแนวผีสาง แต่แนวPoststructuralism ก็ได้มีการสร้างพี่มากพระโขนงขึ้นมา ซึ่งเป็นมุมมองแตกต่างที่ผู้คนในสังคมยุคนี้ยอมรับได้

 

การดำเนินเรื่องของJoker2019 เป็นการชี้ให้เห็นถึงความวุ่นวายในสังคมที่มาจากการแข่งขันกันในระบบทุนนิยมที่มีแนวขัดแย้งที่เห็นได้จากชนชั้นที่ต่างกัน และนั่นเป็นสมมุติฐานพื้นฐานในการเกิดพฤติกรรมอาชญากรรม ในแนวทฤษฎี Conflict Theory และ Critical Criminology นอกจากนี้การวิเคราะห์ในเชิงมหภาคสังคมยังเป็นกรอบความคิดสำคัญที่หนังเรื่องนี้ต้องการแสดงให้เห็นเพื่อสร้างความตระหนักของผู้คนในสังคมถึงการเอาใจเขามาใส่ใจเรา think of others ไม่ใช่การมองสาเหตุของปัญหาจากสภาพบุคคล หรือระดับปัจเจก เพียงอย่างเดียว ที่ตัว Joker นั้นมีภาวะทางจิตที่เป็นการถูกกระทำมาจากในวัยเด็ก Child abuse เพราะการมีพฤติกรรมที่แตกต่าง Deviant จากความปกติที่สังคมยอมรับ (social norm) ไม่จำเป็นที่คนเหล่านี้จะต้องเป็นอาชญากร

 

จุดสำคัญคือ การกระทำผิดอาญาครั้งแรก Onset ของ Joker ที่ไม่เพียงดูอย่างผิวเผินจากสาเหตุในระดับปัจเจกบุคคลที่Jokerมีความผิดปกติทางจิตและขาดการรักษาเพราะถูกตัดงบจากรัฐ แต่ยังต้องอธิบายด้วยทฤษฎีทางสังคมด้วยทั้ง โครงสร้างทางสังคม Social structure; Strain theory และ กระบวนการทางสังคม Social process ที่ประกอบด้วย Social control; Social bond theory และ Social reaction; labeling theory ที่จะอธิบายถึงแนวโน้มและการกระทำผิดครั้งแรกของJokerได้เป็นอย่างดี

 

เริ่มจาก Agnew’s General strain theory ที่สามารถอธิบายได้ว่า การขาดความสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายทางสังคมจากการระบายว่าเขาเสมือนไร้ตัวตนในระบบสังคมทุนนิยม การได้พบเจอสิ่งที่เลวร้ายจากการถูกรุมทำร้าย หรือได้รับการพูดจาไม่ดีจากคนที่ไม่เข้าใจการป่วยทางจิตของเขา สิ่งที่ได้รับสวนทางกลับสิ่งที่เขาคาดหวังจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนในสังคมและเพื่อนร่วมงาน ทำให้เกิดภาวะ Strain หรือความเครียด แต่เพราะ Joker ขาด Coping skill ที่ดีในการมีทักษะในการแก้ปัญหาหรือจัดการกับความเครียดเหล่านั้น เพราะขาดสิ่งที่เรียกว่า Social bond ที่สำคัญที่สุดคือ ความรักความผูกพัน Attachment สำหรับ Joker ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญมากดั่งจะเห็นได้จากการโหยหาการได้รับการยอมรับและกอดจากพ่อ หรือการที่เรียนรู้ว่า attachment สุดท้ายจากแม่ที่ยึดเหนี่ยวเขาเอาไว้ว่าในที่สุดแล้วก็อาจเป็นผู้กระทำทารุณ Child abuse เขาเองในวัยเด็ก ซึ่งโดยพื้นฐานความเจ็บป่วยทางจิตใจและทางกายภาพของJoker เองเมื่อรวมกับการขาด ความรักความผูกพัน ก็เป็นผลทำให้ขาดการควบคุมตนเองที่ดี poor self-control ที่ได้อธิบายไว้ในทฤษฎีต่อยอดจาก Social bond คือ Self-Control Theory ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุหรือแนวโน้มที่ทำให้ Joker ก่อพฤติกรรมอาชญากรรมขึ้น

 

และเมื่อสิ่งที่เขาได้กระทำไปในการยิงชาย3คนรถไฟใต้ดินสาธารณะ ถ้ามองตามกฎหมายผิวเผินก็เป็นความผิดอาญาที่กระทำไปเกินกว่าเหตุในการป้องกันตัวจากการถูกรุมทำร้าย แต่ถ้ามองมุมกลับกันถ้า Jokerเป็นลูกเศรษฐี ผู้ปกครองอาจมองเป็นการป้องกันตัวก็ได้ ในมุมนี้มีทั้งความเป็น Critical Criminology และ การlabeling ของสังคมในทางไม่ถูกไม่ควร ซึ่งการกระทำผิดของ Joker กลับกลายเป็นที่ยอมรับจากกลุ่มคนชนขั้นล่างของสังคม ในลักษณะ sub culture ซึ่งเป็นโครงสร้างทางสังคมที่สถาบันทางสังคมไม่สามารถควบคุมสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ Social disorganization จึงเกิดการชุลมุนวุ่นวายทั้งเมือง เหล่านี้ได้ถูกอธิบายรวมอยู่ใน ทฤษฎีของ Braithwaite คือ Theory of  Reintegrative Shaming ที่เมื่อ Joker ยอมรับพฤติกรรมอาชญากรรมของตน self concept และได้รับการยอมรับจาก Subculture จึงก่อเหตุกับพิธีกรรายการโชว์ดัง สดผ่านทีวีโดยไม่รู้สึกว่าตนนั้นทำผิด

 

ขอโทษที่สปอยหลายๆท่านที่ยังไม่ได้ดูเรื่องนี้นะครับ แต่ลองเอาแว่นตาแบบนักอาชญาวิทยาใส่เข้าไปดูหนังเรื่องนี้ดูครับ ผมมั่นใจว่าท่านจะไม่ออกจากโรงหนังพร้อมกับคำพูดว่า “คนวิกลจริต ต้องติดคุก” เหมือนผมได้ยินหญิงดูรวยๆคนหนึ่งเดินออกจากโรงหนังพร้อมกันแล้วพูดขึ้นมา ซึ่งทำให้ผมเข้าใจว่าสังคมไทยต้องดูเรื่องนี้เพื่อให้ตระหนักการเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มาก

HOME

HOME

STATISTICS

THESIS

CONTACT US

Follow Us :

GotoKnow

By :  Dr.Nathee Chitsawang

Chula Criminology : Copyright Thailand 2016

^TOP